
Electronic mailหรือ Email อีเมล์ (บางทีเราจะเห็นเขียนเป็น email, eMail, E-Mail, e-Mail ก็มีนะครับมาจากคำเดียวกัน) เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารของสังคมคนไอทีด้วยการส่งข้อความในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับการส่งจดหมายด้วยกระดาษ อีเมล์สามารถทำอะไรได้บ้าง
สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับผู้ใช้อีเมล์บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน (discussion groups) ในระบบที่เรียกว่า Email lists หรือ Mailing lists
รับและส่งไฟล์เอกสาร รูปภาพและมัลติมีเดียในรูปของเอกสารแนบท้าย (Attachments)
ปัจจุบันเมื่อความเร็วในการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้น อีกไม่นานเราก็จะได้สัมผัสกับอีเมล์ที่รองรับทั้งเสียงและภาพแบบเวลาจริง (Real time คงไม่ต่างจากการพูดคุยผ่านโทรศัพท์เท่าไหร่)
อีเมล์ทำงานอย่างไร?
การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ต่างจากการเขียนและส่งจดหมายธรรมดา เพียงแต่เปลี่ยนจากกระดาษและปากกามาเป็นการป้อน (พิมพ์) ข้อความลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วส่งออกไปยังผู้รับเท่านั้นเอง
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะทำหน้าที่แทนบุรุษไปรษณีย์ ผู้รับสามารถอ่านจดหมายผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันทีหรือจะสั่งพิมพ์เป็นเอกสารหลักฐานต่างๆ ก็ได้เช่นกัน
สิ่งที่คุณต้องมีในการรับส่งอีเมล์
ชื่อ-ที่อยู่อีเมล์ของคุณเอง (ผู้ส่ง) คุณสามารถขอใช้อีเมล์จากผู้ให้บริการฟรีทั่วไป หรือจากหน่วยงานของคุณเองได้ (ถ้ามีการจดโดเมนเนมและทำระบบตู้ไปรษณีย์ของหน่วยงาน) สำหรับผู้ให้บริการฟรีมีอยู่มากมายดูรายละเอียดที่นี่
ชื่อ-ที่อยู่อีเมล์ของผู้รับ ที่คุณต้องการติดต่อด้วย
ชื่อ-ที่อยู่อีเมล์จะประกอบด้วยส่วนสำคัญอยู่สองส่วน คือ ชื่อ (ของผู้รับและผู้ส่ง) คั่นด้วยเครื่องหมาย @ (อ่านว่า แอท-ไซ ย่อมาจากคำว่า address หรือที่อยู่) ตามด้วยชื่อผู้ให้บริการอีเมล์เช่น krumontree@easyhome.in.th (ชื่อครูมนตรี ผู้ให้บริการเป็นเว็บไซต์ส่วนบุคคลคือ easyhome.in.th), montreek@yahoo.com (ชื่อ montreek ผู้ให้บริการอีเมล์ฟรีของต่างประเทศคือ yahoo.com), webmaster@benchama.ac.th (ชื่อ webmaster ผู้ให้บริการเป็นอีเมล์ของหน่วยงานคือ benchama.ac.th )
ข้อสังเกต การสมัครขอใช้อีเมล์เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวก จดจำได้ง่ายทั้งผู้ส่งและผู้รับควรจะ
ใช้ชื่อที่สั้นๆ จดจำและเขียนได้ง่ายเป็นอักษรตัวเล็กทั้งหมด
หากมีชื่อซ้ำกันอาจจะใส่ตัวเลขเข้าไปด้วยก็ได้ โดยเฉพาะชื่อของคนไทยบางทีการเขียนและสะกดทำได้ลำบากอาจจะใช้ชื่อย่อเข้าช่วยแก้ปัญหาได้
พยายามหลีกเลี่ยงการเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ตัวเล็กผสมกัน (จดจำยาก และถ้าพิมพ์ผิดโอกาสที่จดหมายจะส่งถึงเป็นศูนย์เลยทีเดียว) หรือ
หลีกเลี่ยงการเขียนด้วยตัวใหญ่ทั้งหมด (เพราะในความหมาย การพิมพ์ตัวอักษรตัวใหญ่ทั้งหมดจะเป็นการตะโกนเข้าใส่กัน)